อีกหนึ่งสีสันของฟุตบอลโลก นอกจากสถานที่สวยๆ ก็คงจะเป็นมาสคอตที่สื่อถึงความเป็นเจ้าภาพได้อย่างดี ที่ผ่านมาเรามีมาสคอตน่ารักมาแล้วกี่ราย โกล ประเทศไทยขอรวบรวมมาให้ชม

ฟุตบอลโลกปี 1966 เป็นปฐมบทแห่งการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ของวงการลูกหนังอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากบทเพลงอย่างเป็นทางการประจำการแข่งขันแล้ว พวกเขามีมาสคอตถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนปัจจุบันเป็นเรื่องที่ขาดไปไม่ได้เสียแล้ว
ที่ผ่านมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มาสคอตมีมาแล้วกี่ราย จะน่ารักขนาดไหน ใน World Cup 101 โกล ประเทศไทยขอโหมโรงพาคุณไปชม

อังกฤษ 1966 – World Cup Willie (เวิลด์ คัพ วิลลี)

อังกฤษเปิดตัวมาสคอตครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลกคือเจ้า เวิลด์ คัพ วิลลี เป็นสิงโต สัตว์คู่บ้านคู่เมืองสัญลักษณ์อันทรงพลังของสหราชอาณาจักร ด้วยภาพลักษณ์ที่เรียบง่าย สิงโตรูปหล่อสวมเสื้อลายธงยูเนียนแจ็ค มีคำว่า World Cup ติดแบบตรงไปตรงมา อาจจะดูล้าสมัยนิดหน่อยแต่ชาวอังกฤษคงไม่แคร์ เพราะมันคือสิงโตนำโชคที่ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์โลกได้ในที่สุด

เม็กซิโก 1970 – Juanito (ฮัวนิโต้)

ฮัวนิโต้ ของชาวเม็กซิโกคือหนุ่มน้อยที่มีคาแรคเตอร์ตรงเป๊ะกับชาวเม็กซิโก ด้วยหมวกซอมเบรโรทรงกว้างแบบพื้นเมืองจังโก้ หน้าตาและสีผิวที่ชัดเจน นี่คือครั้งแรกที่มาสคอตเป็นคน และด้วยชื่อที่เรียบง่ายอันหมายถึง “เจ้าหนูฮวน” มันคือมาสคอตที่ติดตาชาวโลกครั้งหนึ่ง

เยอรมันตะวันตก 1974 – Tip & Tap (ทิปกับแท็ป)

เวิลด์ คัพย้อนกลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่บนผืนแผ่นดินยุโรป โดยครั้งนี้เป็นชาติเยอรมันตะวันตกที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ และเป็นอีกครั้งที่มาสคอตของพวกเขาเป็นคน ทว่าเพิ่มมาเป็น 2 คือเจ้าหนูผมดำกับผมบลอนด์คู่ซี้นาม ทิป กับ แท็ปสวมเสื้อทีมชาติเยอรมันพิมพ์อักษร WM อันหมายถึง Weltmeisterschaft ที่แปลว่าฟุตบอลโลก ในภาษาเยอรมัน และหมายเลข 74 คือปีจัดนั่นเอง

อาร์เจนตินา 1978 – Gauchito (เกาชิโต้)

ที่อาร์เจนตินา พวกเขายังคงคาแรคเตอร์ความเป็นคนในมาสคอตอีกครั้ง ด้วยเจ้าหนูน่ารักสวมเสื้อทีมชาติตัวเองเหยียบลูกบอลอยู่ แต่ที่พิเศษหน่อยคือมีผ้าพันคอ อันหมายถึงความเป็นหนุ่มเลี้ยงวัวตามทุ่งหญ้าในประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งคือสะท้อนความเป็นโคบาลตัวน้อยๆ อันเป็นท้องถิ่นนิยมออกมาทางมาสคอตอย่าง “เกาชิโต้” แบบชัดเจน

สเปน 1982 – Naranjito (นารานฆิโต้)

ปลดแอกทุกการออกแบบอย่างแท้จริงสำหรับสเปน ด้วยการใช้ผลไม้อย่าง “ส้ม” เป็นมาสคอต ด้วยแนวคิดที่ว่านี่คือผลไม้ขึ้นชื่อของประเทศจากเมืองบาเลนเซีย เจ้าส้มหน้าตาน่ารักตัวนี้สวมเสื้อทีมชาติสเปนเด่นเป็นเอกลักษณ์ และชื่อของมันก็มาจากคำว่า นารานฆา (Naranja) ที่แปลว่าส้มในภาษาสเปน บวกคำว่า ito เข้าไปกลายเป็น “ส้มตัวน้อย”

เม็กซิโก 1986 – Pique (ปิเก้)

เนื่องจากโคลอมเบียไม่สามารถรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพได้ด้วยสภาพคล่องทางการ เงิน เม็กซิโกจึงอาสาดูแลอีกครั้งเป็นหนที่สองในปีนี้ และจากเด็กน้อยเมื่อครั้งที่แล้ว คราวนี้ เม็กซิโกสร้างความเก๋ไก๋เพิ่มขึ้นด้วยการหยิบ “พริกหยวก” เครื่องเทศขึ้นชื่อของประเทศมาเป็นตัวนำโชค ที่มีกลิ่นอายจังโก้เต็มเหนี่ยวด้วยหนวดเขี้ยวโดดเด่น หมวกซอมเบรโรที่สวยงาม ส่วนชื่อ “ปิเก้” นั้นมาจากนิคเนมของคำว่า “ปิกันเต้” (Picante) ซึ่งแปลว่าซอสและเครื่องเทศในภาษาสแปนิช

อิตาลี 1990 – Ciao (เชา)

เรื่องศิลปะศิลปินไม่มีใครเกินอิตาลีแน่นอน และสำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้ พวกเขาก็เซอร์ไพรส์ด้วยความมินิมอลสุดๆ ของมาสคอต “เชา” คือตัวต่อที่เรียงกันขึ้นเป็นรูปแทนตัวคน มีหัวเป็นลูกฟุตบอล ประดับด้วยสี 3 สีคือ เขียว-แดง-ขาว อันเป็นสีธงชาติของพวกเขา และคำว่า “เชา” ก็มีความหมายง่ายๆ ว่าสวัสดี

สหรัฐอเมริกา 1994 – Striker (สไตรเกอร์)

เข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริงหลังสหรัฐอเมริกาใช้รูปภาพสไตล์คอมิคการ์ตูนแนว อเมริกันชนร่างเจ้า “สไตร์เกอร์” สุนัขหูตูบสีน้ำตาลสวมเสื้อทีมชาติสหรัฐฯ เป็นมาสคอต ชื่อของมันแปลว่ากองหน้าผู้ทำประตูแบบง่ายๆ แต่นี่คืออีกหนึ่งมาสคอตที่โดดเด่นและตราตรึงที่สุดเช่นกัน

ฝรั่งเศส 1998 – Footix (ฟูติกซ์)

เจ้าพ่อแห่งศาสตร์และศิลป์อย่างฝรั่งเศสรังสรรค์มาสคอตที่ได้รับการยกย่อง ให้เป็นตัวนำโชคคลาสสิคตลอดกาลจนถึงวันนี้ “ฟูติกซ์” คือไก่ อันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของฝรั่งเศสที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย ด้วยสีน้ำเงินเหมือนชุดแข่งทีมชาติมีคำว่า “FRANCE 98” อยู่บนตัว เป็นอันจบ

เกาหลีใต้/ญี่ปุ่น 2002 – Ato, Kaz & Nik (อาโต้, คาซ และ นิค)

มาสคอตครั้งนี้แปลกใหม่และยิ่งใหญ่สมกับการที่ฟุตบอลโลกโยกมาจัดบนแผ่นดิน เอเชียครั้งแรก จากความร่วมมือของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น พวกเขาได้มาสคอตมาถึง 3 ตัวอย่างอาโต้, คาซ และนิค อันเป็นตัวการ์ตูนที่มีแนวคิดไซไฟจากโลกอนาคตนิดหน่อย ด้วยสีส้ม, ม่วงและน้ำเงินสดใส แทนความเป็นโค้ช และผู้เล่นสองคน

เยอรมัน 2006 – Goleo VI (โกเลโอ เดอะ ซิกซ์)

ที่แผ่นดินด๊อยท์ชลันด์ พวกเขาได้จัดฟุตบอลโลกอีกครั้งแบบไม่มีกำแพงเบอร์ลินกั้นชาติ มาสคอตครั้งนี้ถูกออกแบบอย่างง่ายสุดๆ เหมือนกลับสู่สามัญ เจ้าสิงโตนามว่า “โกเลโอ” สวมเสื้อทีมชาติเยอรมันโดยคำว่า โกเลโอ มาจาก Goal + Leo ซึ่งแปลว่าโกล และ สิงโตนั่นเอง

แอฟริกาใต้ 2010 – Zakumi (ซาคูมิ)

ด้วยสีสันที่สดใส นี่คือคราวแจ้งเกิดบนแผ่นดินแอฟริกาใต้ของ “ซาคูมิ” ในภาพของเสือดาวตัวน้อยสีเหลืองลายจุด สัตว์ป่าคู่บ้านคู่เมืองของแอฟริกา ด้วยลีลาท่าทางที่ทะมัดทะแมงสมตัวนักกีฬา เสือดาวอันเป็นสัญลักษณ์ของความปราดเปรียว และ Zakumi ก็มีความหมายตามภาษาท้องถิ่นว่า “ยินดีต้อนรับ” อีกด้วย

บราซิล 2014 – Fuleco (ฟูเลโก้)

มาสคอตของฟุตบอลโลกที่กำลังจะถึงในเร็ววันนี้เป็นตัวนิ่มที่แสนน่ารัก ของบราซิล ด้วยการดีไซน์ที่เท่และเก๋ไก๋ มันสวมเสื้อยืดสีขาวมีคำว่า Brasil 2014 แบบเรียบง่าย และมันก็สื่อถึงความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ในทีด้วยชื่อของมันเองอย่าง Fuleco ที่เป็นศัพท์ในภาษาโปรตุเกสที่มีความหมายว่า "futebol" (football = ฟุตบอล) และ "ecologia" (ecology = ระบบนิเวศน์) โดยเชื่อว่าการใช้สองคำที่นำมาผสมกันนี้ก็เพื่อที่จะให้มีการตระหนักถึงสภาพ แวดล้อมของโลกในปัจจุบันและพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น