ความจริงอันเจ็บปวด 5 เหตุบอลไทยร่วงซีเกมส์
21/11/2011 By MGR Sport
แฟนลูกหนังชาวไทยมีอันต้องกุมศีรษะผิดหวังไปตามๆ กันกับผลงานของฟุตบอลชายทีมชาติไทยในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกระเด็นตกรอบแรกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยครองความเป็นจ้าวลูกหนังอาเซียนถึง 8 สมัยซ้อน (ปี 1993-2007) และยังได้เหรียญทองมากที่สุดถึง 13 ครั้ง ผู้สื่อข่าว MGR Sport ซึ่งเดินทางมาเกาะติดผลฟาดแข้งถึงขอบสนามจึงขอวิเคราะห์สาเหตุที่นำมาสู่ความล้มเหลวของทัพ “ช้างศึก” ชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ดังนี้
1.การเลือกตัวผู้เล่น
ครั้งนี้มีนักเตะจากดิวิชัน 1 มากถึง 9 คน อีก 11 คนที่เหลือเล่นอยู่ในไทยพรีเมียร์ลีก ถือเป็นสัดส่วนที่มากสำหรับการลงเตะในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติซึ่งมีความเขี้ยวมากกว่าเกมระดับสโมสรในบ้านเรา นอกจากนั้น แข้งส่วนใหญ่เป็นแค่ตัวสำรองในสโมสร ทำให้ขาดความคุ้นเคยกับเกมที่เล่นกันจริงจัง
หากเจาะลงไปอีกทีละตำแหน่งนับว่าชุด “อิเหนาเกมส์” ยังไม่ใช่ชุดที่ดีที่สุดอย่างที่ทีมงาน(พยายาม) บอก ซึ่งคนที่ผ่านเกมในไทยพรีเมียร์ลีกกับสโมสรมาไม่น้อย เช่น ทศพล ลาเทศ (การท่าเรือไทย), อัครพล มีสวัสดิ์ (บีอีซี เทโรศาสน), ชนานันท์ ป้อมบุบผา (อินทรีเพื่อนตำรวจ) เป็นต้น กลับไม่อยู่ในสารบบ
2.เด็กเส้น ?
สืบเนื่องจากข้อแรก เมื่อดูชื่อกุนซืออย่าง ประพล พงษ์พานิช จะเห็นว่ามีนักเตะที่เคยร่วมงานกับ “น้าเหม่ง” ในระดับสโมสรทั้งสมัยคุม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ แบงค็อก ยูไนเต็ด (รณชัย รังสิโย, ธีราทร บุญมาทัน, พลวุฒิ ดอนจุ้ย, คมกริช คำโสกเชือก) รวมถึงกลุ่มที่คุ้นหน้ากันดีในชุดตกรอบปรีโอลิมปิกด้วยการถูกปรับแพ้เพราะส่งตัวติดโทษแบนตกค้าง อีกหลายคน (เช่น สุจริต จันทกล, เฉลิมศักดิ์ แก้วสุขแท้) ซึ่งการเลือกตัวตามใจฉันทำให้สมดุลของทีมไม่ลงตัว สิ่งที่เห็นชัดที่สุด คือ ชุดนี้ไม่มีนักเตะประเภทฮาร์ดแมนที่คอยตัดและเชื่อมเกมแดนกลาง เมื่อครองบอลไม่ได้ก็ยากที่จะเอาชนะ
3.กุนซือ
จากข้อที่สอง เครดิตของ “น้าเหม่ง” ก่อนมาซีเกมส์ถือว่าไม่ใช่กุนซือที่จะฝากผีฝากไข้ได้หากดูผลงานล่าสุดในการคุม แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่ทำทีมย่ำแย่จนหลุดจากเก้าอี้เมื่อเข้าสู่เลกสอง นอกจากนั้น เรื่องแท็กติกและการแก้เกมก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าไหร่นักอย่างที่ปรากฏตั้งแต่นัดแรกที่พ่าย มาเลเซีย ซึ่งสกอร์ควรจะไหลมากกว่า 1-2 ด้วยซ้ำ ตลอดจนเรื่องจิตวิทยาการกระตุ้นผู้เล่นที่บ่อยครั้งเรามักจะเห็น “น้าเหม่ง” นั่งหัวเสียอยู่บนม้านั่งสำรองมากกว่าที่จะลุกขึ้นมาสั่งการแก้เกม แล้วสุดท้ายก็มาโยนความผิดให้กับการตัดสินของกรรมการซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่ดีของคนเป็นแม่ทัพ
4.โชคร้าย
นอกเหนือจากความผิดพลาดส่วนบุคคลแล้ว อุบัติเหตุในระหว่างลงสนามก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดชะตากรรม เริ่มจากนัดแรกที่ถูก “เสือเหลือง” มาเลเซีย ถลกหนังก็ต้องเสีย วีระวุฒิ กาเหย็ม แบ็กซ้ายอาชีพเพียงคนเดียวของชุดนี้ที่ข้อเท้าพลิกก่อนถูกยิงฝังตอนท้าย จากนั้นนัดที่ 3 ซึ่งชี้ชะตากับ อินโดนีเซีย ธีราทร บุญมาทัน ที่เพิ่งโดนใบแดงมาจากทีมชุดใหญ่ในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ก็เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดถูกไล่ออกตั้งแต่ 12 นาทีแรกทั้งที่เพิ่งลงจากเครื่องมาในช่วงเที่ยงวันนั้น ทำให้สุดท้ายก็ต้านไม่อยู่
5.สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ
ถ้าย้อนกลับไปดูที่การบริหารงานในยุค วรวีร์ มะกูดี แม้จะอ้างว่าฟุตบอลลีกในประเทศกำลังโตวันโตคืน แต่การรีบเพิ่มทีมไทยพรีเมียร์ลีกและดิวิชัน 1 เป็น 18 ทีม, จัดฟุตบอลถ้วยโตโยต้า ลีก คัพ (ที่ไม่มีโควตาไปเล่นในระดับเอเชีย) ขึ้นมาเพิ่มจากเอฟเอ คัพ ในรูปแบบเหย้า-เยือน ทำให้ไม่มีช่องว่างให้ทีมชาติเรียกนักเตะมาเก็บตัวฝึกซ้อมมากเท่าที่ควร รวมทั้งการกำหนดโควตาแข้งนอกที่ส่งชื่อได้ 7 คน ลงเล่นได้ 5 คน เหมือนเป็นการสกัดดาวรุ่งไม่ให้แจ้งเกิด และสุดท้ายคือวัฒนธรรม “อัดฉีด” เพื่อเอาหน้าหากประสบความสำเร็จ แต่ปล่อยให้เตรียมทีมก่อนแข่งตามมีตามเกิด ก็สมควรยกเลิกในวงการฟุตบอลสมัยใหม่ได้แล้ว หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปคงต้องทำใจว่าเราแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง
ไม่ฝืน! ฟีร์มิโนเจ็บถอนทัพแซมบ้าชุดคัดบอลโลก
แนวรุกบราซิเลียนของหงส์แดง ตัดสินใ...
- ปี
- ชนะเสิศ
- รองชนะเสิศ
- อันดับ 3