ครั้งที่ 10 ฟุตบอลโลก 1974 (ที่ประเทศเยอรมัน)
ฟุตบอลโลก 1974 เป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นที่เยอรมนีตะวันตก ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน -7 กรกฎาคม ค.ศ. 1974 เป็นครั้งแรกที่ใช้ถ้วยรางวัลที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เรียกถ้วยฟีฟ่าเวิลด์คัป สร้างสรรค์โดยประติมากรชาวอิตาลีที่ชื่อ ซิลวิโอ แกซซานิกา การแข่งขันครั้งนี้เยอรมนีตะวันตกเป็นผู้ชนะการแข่งขัน ชนะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ใน รอบตัดสินไปได้ 2-1 ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่เยอรมนีตะวันตกชนะไป หลังจากเคยชนะไปเมื่อปี 1954
ศึกเวิลด์ คัพ ปี 1974 ประเทศเยอรมันตะวันตก รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ มีการรักษาความปลอดภัยกันอย่างเข้มงวดกว่าที่เคย เนื่องจากเกิดเหตุสลดใจ เมื่อมีนักกรีฑายิว 11 รายถูกผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ฆ่าตายในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ เมื่อ 2 ปีก่อน
โดยฟุตบอลโลกครั้งนี้ มี 16 ชาติเข้าร่วมโม่แข้ง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม ซึ่ง 2 ทีมที่มีคะแนนดีที่สุดในแต่ละกลุ่ม จะได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 2 หรือรอบ 8 ทีมสุดท้ายแทนที่การเล่นในแบบน็อกเอาต์ ทีมที่ชนะในรอบนี้ก็จะได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบชิงชนะเลิศ ขณะที่อันดับ 2 ในแต่ละกลุ่มจะได้ชิงตำแหน่งที่ 3 แทน ขณะเดียวกันยังมีอีกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอีกเช่นกันนั่นก็คือถ้วยรางวัล หลังจากที่ บราซิล ได้ถ้วย จูลส์ ริเม่ต์ ไปเป็นกรรมสิทธิ์ ก็ทำให้ต้องมีการจัดทำถ้วยใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยโทรฟี่ใหม่นี้หล่อขึ้นเป็นรูปโลกที่ทำมาด้วยทองคำ 18 กะรัต
"แชมป์เก่า" บราซิล มีนักเตะที่หลงเหลือจากชุดคว้าแชมป์โลกปี 1970 ที่เม็กซิโก เพียง 3 คนเท่านั้นคือ ริเวลิโน่, แจร์ซินโญ่ และเพี๊ยซซ่า ขณะที่ เยอรมันตะวันตก เจ้าภาพก็มีโอกาสครองแชมป์สมัยที่ 2 เป็นอย่างมากหลังซิวถ้วยยูโรปี 72 มาครองได้สำเร็จ โดยมี ฟร้านซ์ เบ๊คเค่นเบาเออร์ สุดยอดลิเบอโร่ เจ้าของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของยุโรปในปี 1972 ของบาเยิร์น มิวนิค นำทีม ส่วนทีมจากเกาะบริเทน มีเพียงทัพลูกหนังแดน "วิสกี้" สกอตแลนด์ เพียงชาติเดียวเท่านั้น ที่ได้ผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย โดยทีมชาติอังกฤษ ภายใต้การนำทีมของ เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ พลาดท่าไม่สามารถผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปเล่นในครั้งนี้ได้สำเร็จ ก่อนที่ แรมซี่ย์ จะโดนสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน
เกมเปิดสนามมีขึ้นที่สังเวียนแข้ง วัลด์ สเตเดี้ยม ในเมืองแฟร้งค์เฟิร์ต โดย บราซิล ทำได้เพียงแค่เสมอกับทัพลูกหนังยูโกสลาเวีย ไปแบบไร้สกอร์ ขณะเดียวกัน เกมที่แฟนบอลทั่วโลกต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย ก็คือ การปะทะกันครั้งแรกระหว่างเยอรมันตะวันตก กับ "เดเดแอร์" หรือ เยอรมันตะวันออก ในรอบแรก กลุ่ม 1 ที่สนาม โฟล์ค ปาร์ค สเตเดี้ยม ของ ฮัมบูร์ก (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น เอโอแอล อารีน่า) ท่ามกลางแฟนบอลแน่นขนัดกว่า 60,200 คน นั้น เกมจบลงด้วยชัยชนะของทีมชาติเยอรมันตะวันออก จากการยิงประตูโทนของ เจอร์เก้น สปาร์วาสเซอร์ ก่อนหมดเวลาเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ทีมต่างก็กอดคอผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 2 ได้สำเร็จ
ขณะที่ทีมที่อันตรายที่สุดในทัวร์นาเมนต์ครั้งนี้ก็คือ "อัศวินสีส้ม" ฮอลแลนด์ ที่เพิ่งมีโอกาสผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งทีม "ฟลายอิ้ง ดัตช์แมน" ในยุคนั้นเต็มไปด้วยขุนพลฝีเท้าเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น "นักเตะเทวดา" โยฮัน ครัฟฟ์ ที่เป็นหัวใจคอยบัญชาเกมในแดนกลางได้อย่างอัศจรรย์พันลึก นอกจากนั้น ยังมีนักเตะที่โชว์ฟอร์มระดับโลกหลายคนอาทิเช่น โยฮัน นีสเก้นส์, วิม ฟาน ฮาเนเก้น, รุด ครอลล์, จอห์นนี่ เร็ป และร็อบ เรนเซ่นบริ๊งค์ โดยมี "ท่านนายพล" ไรนุส มิเชลส์ เป็นกุนซือคอยบงการเกมอยู่ข้างสนาม
ฮอลแลนด์ จับติ้วมาอยู่กลุ่ม 3 ร่วมกับ สวีเดน, บัลแกเรีย และอุรุกวัย ซึ่งก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับพวกเขาแต่อย่างใด เมื่อเก็บชัยชนะเป็นที่ 1 ของกลุ่ม ส่วนในรอบ 2 นักเตะดัตช์ เปลี่ยนเพื่อนร่วมกลุ่มมาเป็น อาร์เจนตินา, บราซิล และเยอรมันตะวันออก แต่ก็ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างสะเด่า ด้วยการเก็บชัยชนะรวดทั้ง 3 นัด ร่ายเพลงเตะฟุตบอลในสไตล์ที่เรียกว่า "โททั่ล ฟุตบอล" คือนักเตะทุกตำแหน่งสามารถเล่นทดแทนกันได้ทุกคน พร้อมกับเข้าไปรอชิงชนะเลิศอย่างองอาจ โดยในรอบชิงชนะเลิศ อัศวินสีส้ม เจอศึกหนักพบ "เจ้าภาพ" เยอรมันตะวันตก หลังจากทัพ "อินทรีเหล็ก" เฉือนเอาชนะทีมชาติโปแลนด์ ในนัดตัดเชือกไปได้ชนิดเสียวหัวใจคนทั้งประเทศ 1-0
รอบชิงชนะเลิศ มีขึ้นที่สนาม โอลิมปิก สเตเดี้ยม เมืองมิวนิค วันที่ 7 กรกฎาคม 1974 ท่ามกลางผู้ชมเข้ามาเป็นสักขีพยานกว่า 77,833 คน ทัพลูกหนัง "อินทรีเหล็ก" มี ฟร้านซ์ เบ๊คเค่นเบาเออร์ เดินนำลูกทีมออกสู่สนามด้วยเสื้อสีขาว กางเกงดำ และถุงเท้าขาว ขณะที่แข้ง "ดัตช์แมน" อยู่ในชุดเก่งเสื้อสี้ส้ม กางเกงขาว ถุงเท้าส้ม
เริ่มเกมไปได้เพียงแค่ไม่ถึงนาที สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นหลังจากที่ ฮอลแลนด์ เป็นฝ่ายเริ่มเขี่ยบอลก่อนก็บุกตะลุยเข้าไปในเขตโทษทันทีกระทั่ง ครัฟฟ์ ถูก อูลี่ เฮอเนส เสียบคว่ำลงในเขตโทษ แจ๊ค เทย์เลอร์ ผู้ตัดสินชาวอังกฤษ ไม่รีรอเป่านกหวีดให้เป็นลูกจุดโทษทันที และเป็น โยฮัน นีสเก้นส์ ที่บรรจงยิงเล่นทางหลอก เซปป์ ไมเออร์ นายทวารเมืองเบียร์ ให้หลงทาง ทำให้ ฮอลแลนด์ ออกนำไปก่อน 1-0 ทั้งๆ ที่นักเตะเยอรมันตะวันตกยังไม่ได้สัมผัสบอลเลยสักคนด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่มีการยิงจุดโทษเกิดขึ้นในศึกเวิลด์ คัพ รอบชิงชนะเลิศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แฟนบอลชาวด๊อยท์ซ ก็ได้เฮกันบ้าง เมื่อเยอรมันตะวันตกเป็นฝ่ายได้ลูกจุดโทษ จากจังหวะที่ วิลเล่ม แจนเซ่น ไปเกี่ยว แบร์น โฮลเซ่นบายน์ ล้มลงในเขตโทษ และก็เป็น พอล ไบร์ทเนอร์ ที่รับหน้าที่สังหารเข้าไปอย่างเลือดเย็นให้ทัพเมืองเบียร์ ตามตีเสมอเป็น 1-1 ก่อนที่การตัดสินแชมป์จะมาเกิดขึ้นในช่วงก่อนหมดเวลาครึ่งแรกเพียงแค่ 2 นาที เมื่อ "ไอ้ลูกดินระเบิด" เกิร์ด มุลเลอร์ ได้บอลจาก ไรเนอร์ บอนโฮฟ เอี้ยวตัว 180 องศา ซัดบอลเข้าไปกองในก้นตาข่ายอย่างงดงาม ช่วยให้ เยอรมัน พลิกขึ้นมานำ 2-1 จนกระทั่งหมดครึ่งแรก
ครึ่งหลัง ฮอลแลนด์ โหมบุกเป็นพายุบุแคม หมายตีเสมอให้สำเร็จ แต่แนวรับ "อินทรีเหล็ก" ที่มี ฟร้านซ์ เบ๊คเค่นเบาเออร์ คอยบัญชาการเกมอยู่นั้น ทำให้ขุนพลดัตช์ หมดโอกาสเจาะตาข่ายตีเสมอไปโดยปริยาย ก่อนที่ผู้ตัดสินจะเป่านกหวีดยาวหมดเวลาการแข่งขัน ส่งผลให้เยอรมันตะวันตก ประกาศศักดากลายเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ หลังจากที่เคยได้แชมป์มาก่อนหน้านี้เมื่อปี 1954
ไม่ฝืน! ฟีร์มิโนเจ็บถอนทัพแซมบ้าชุดคัดบอลโลก
แนวรุกบราซิเลียนของหงส์แดง ตัดสินใ...
- ปี
- ชนะเสิศ
- รองชนะเสิศ
- อันดับ 3